Kelap Rahman Putra 2010
12-17 December 2010 , Malaysia

เป็นอีกครั้งที่โปรแจ๊คได้มีโอกาสควบคุมนักกอล์ฟเยาวชนของชมรมส่งเสริมนักกอล์ฟเยาวชนไทย(ภาคเหนือ) ไปแข่งขันกอล์ฟในแม็ทช์ระดับนานาชาติยังต่างประเทศ ในรายการ...
"AM Bank - Crest Link - Sportexcel
International Junior Golf Championship 2010"
Kelap Rahman Putra , Malaysia
14-16 December 2010
โดยมีป้าตู๋ (คุณธันยา อนุมานราชธน จันทร์วิทัน) ร่วมควบคุมทีมมาด้วย การแข่งขันในแม็ทช์นี้ เป็นคณะที่สอง ที่ชมรมส่งเสริมนักกอล์ฟเยาวชนไทย(ภาคเหนือ) ได้ส่งนักกอล์ฟไปแข่งขันยังต่างประเทศในปีนี้ โดยคัดเลือกจากนักกอล์ฟที่เข้าร่วมการแข่งขันของชมรมฯอย่างต่อเนื่องและมีคะแนนสะสมที่ดี ตามหลักเกณฑ์ของชมรมฯ ในฤดูกาลการแข่งขันปี 2552-2553
คณะแรกที่ส่งไปแข่งขันคือการแข่งขันรายการ " SICC 19th Junior Invitational Golf Championship " ที่ประเทศสิงคโปร์ เมื่อต้นเดือนธันวาคมนี้เช่นกัน โดยมีนักกอล์ฟประกอบไปด้วยนายทัตพงศ์ ทวีประศาสน์ "ปูน" , นายสุรเชษฐ์ คุณกิตติ "แฟง" , นายชนะโชค เดชภิรัตนมงคล "แต๊ป" , นายหิรัญญ์ ศิริวัฒน์ปิติวงค์ "พอช" , นายภูบดินทร์ ขันทอง "ภู" และ น.ส.นภัสสร จันทร์โรจนพันธุ์ "พีม"
ซึ่ง "แต๊ป" ชนะโชค เดชภิรัตนมงคล ก็ทำผลงานได้อย่างยอดเยี่ยม คว้าตำแหน่งชนะเลิศ OVER ALL LOW GROSS มาได้ สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทยและชมรมฯ ของเราได้เป็นอย่างมาก
สำหรับแม็ทช์ที่มาเลเซีย ก็เป็นคณะที่สอง ที่เดินทางไปแข่งขันยังต่างประเทศในปีนี้ นักกีฬาประกอบไปด้วย นายณัฐวัฒน์ อภิลักษมีวรรณ์ "ดรีม" , นายเดโช เกิดเดโช "ปลื้ม" , นายณภัทร พันธุ์วงศ์ "ก๊าบ" , นายกิตติธีร์ ป้อมบุญมี "กอล์ฟ" , ด.ช.ชโยดม จันทร์จารุพงศ์ "ปูน" , ด.ช.ภูพิงค์ จาระนะ "ภู" , ด.ช.โควสุเกะ ฮามาโมโต "เกะ" , น.ส.วรันธร กวาวสิบสาม "น้ำ" , ด.ญ.สรัลลัคน์ ตุ้มฟอง "น้ำว้า" และ ด.ญ.ณัฐนิชา ชมเชย "เฟรนด์" โดยมีผู้ปกครองติดตามมาด้วยอีก 3 ท่าน รวมคณะจากภาคเหนือของเราจำนวน 15 คนด้วยกัน

แต่การเดินทางไปในครั้งนี้ เราต้องแยกออกเป็นถึง 3 คณะด้วยกัน สาเหตุจากการติดภารกิจของแต่ละคน จึงจำเป็นต้องแยกกันเดินทาง ซึ่งใจจริงแล้วไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์อย่างนี้ขึ้นเลย การจัดการค่อนข้างยุ่งยากและต้องคอยเป็นห่วงกัน แม้ว่าจะเป็นประเทศเพื่อนบ้านใกล้ๆกันก็ตาม ก็ยังอดห่วงไม่ได้ ยังไงเสียก็ไม่เหมือนกับการเดินทางภายในประเทศ หากเกิดปัญหาอะไรขึ้นจะแก้ไขได้ง่ายและสะดวกกว่าแน่นอน
คณะแรก. เป็นกลุ่มใหญ่ ควบคุมโดยป้าตู๋ และเดินทางพร้อมกับคณะของกรุงเทพ จากสนามบินสุวรรณภูมิไปยังกัวลาลัมเปอร์
คณะที่สอง โควสุเกะ กับคุณแม่ เดินทางตามไปด้วยตนเอง
คณะที่สาม มีโปรแจ๊คที่ต้องเดินทางเป็นเพื่อนไปกับน้ำว้า
แต่ที่สุดแล้วการเดินทางก็ผ่านไปอย่างราบรื่น และมารวมตัวกันที่โรงแรมที่พัก กลางกรุงกัวลาลัมเปอร์ อย่างอยู่รอดปลอดภัย
โดยโปรแจ๊คกับน้ำว้าออกเดินทางจากสนามบินนานาชาติเชียงใหม่ บินตรงไปที่กรุงกัวลาลัมเปอร์เลย ซึ่งค่อนข้างสะดวก โดยสายการบิน AIR ASIA ใช้เวลาเดินทางตั้งแต่เครื่องบินยกตัวขึ้นที่เชียงใหม่ และล้อแตะรันเวย์ที่สนามบินมาเลเซีย แอร์พอร์ท 2 ชั่วโมงครึ่งพอดี พอลงจากเครื่องก็อย่าลืมตั้งเวลาใหม่นะครับ เพราะที่มาเลเซีย เวลาจะเร็วกว่าเมืองไทย 1 ชั่วโมง เมื่ออยู่ที่บ้านเมืองเขา ก็ต้องนัดหมายกันตามเวลาของบ้านเขานะครับ จะได้ไม่พลาดกำหนดการต่างๆ

สนามบินมาเลเซียแอร์พอร์ท อยู่ห่างจากกรุงกัวลาลัมเปอร์ประมาณ 50 กิโลเมตร และมีขนาดใหญ่พอสมควร สายการบิน AIR ASIA จะใช้ TERMINAL อื่น แยกจากตัวอาคารหลัก ซึ่งค่อนข้างเก่า (คงเป็นไปตามราคาตั๋ว) แต่ถ้าใช้บริการของสายการบินไทย ก็จะใช้ TERMINAL หลัก ซึ่งทันสมัย สวยงามตามแบบสากลนิยม
จากสนามบินต้องเดินทางกันต่อ เพื่อเข้าไปตัวเมืองกัวลาลัมเปอร์ โปรแจ๊คและน้ำหว้าใช้บริการของ TAXI ภายในสนามบินให้ไปส่งที่โรงแรมที่พัก เสียค่าใช้จ่ายไป 102 ริงกิตมาเลเซีย ( 1 ริงกิตมาเลเซีย ประมาณ 10 บาทครับ) อันที่จริงแล้วมีบริการรถบัส รับส่งจากสนามบินเพื่อเข้าไปในตัวเมือง แต่คงไม่สะดวกเพราะสัมภาระเราเยอะพอสมควร รวมทั้งถุงกอล์ฟของโปรน้ำว้าอีกด้วย ก็คงต้องยอมจ่ายแพงเพื่อความสะดวกหล่ะคราวนี้
ข้อมูลรถบัสรับส่งสนามบิน เข้าดูได้ที่ www.airportcoach.com.my รู้สึกว่าจะออกทุก 1 ชั่วโมง และมีจุดขึ้นรถอยู่ที่สถานีรถไฟฟ้า KL Sentral รถวิ่งตั้งแต่ 05.00-23.00 น. ค่าโดยสารขาเดียว 10 ริงกิต
รถแท็กซี่จากสนามบินมาส่งถึงที่โรงแรม Boulevard Hotel ซึ่งอยู่ในย่าน Mid Valley ของกรุงกัวลาลัมเปอร์ Boulevard Hotel เป็นโรงแรมระดับ น่าจะประมาณ 4 ดาวครึ่ง ทันสมัย ใหม่และอยู่ติดกับห้างสรรพสินค้ามากมาย ทำให้สะดวกสบาย เป็นที่ถูกอกถูกใจของบรรดาชาวคณะจากเมืองไทยเป็นอย่างยิ่ง ค่าห้องพักในห้องแบบธรรมดาตกคืนละ 275 ริงกิต หากต้องการเตียงเสริมบวกเพิ่มอีก 60 ริงกิต/คืน ราคานี้รวมอาหารเช้าด้วย

หลังจากได้ห้องพักเรียบร้อย บ่ายสองโมงกว่า ท้องเริ่มร้อง เพราะยังไม่มีใครได้กินข้าวมื้อเที่ยงกันเลยตั้งแต่ลงจากเครื่องบินมา พี่ดรีมอาสาพาไปกินข้าวมันไก่ที่ร้านข้างๆโรงแรม ราคาจานละ 10 ริงกิต แต่ปริมาณมากกว่าบ้านเรา ไก่ชิ้นใหญ่ๆ คุ้มค่า ถูกปากและอิ่มท้องไปตามๆกัน
สองทุ่ม..."โปรกอล์ฟ" โปรผู้ควบคุมทีมจากกรุงเทพ ประชุมเด็กๆทั้งหมดที่ล็อบบี้ของโรงแรม แจ้งกำหนดการต่างๆ เวลานัดหมาย สำหรับวันแรก เป็นวันฝึกซ้อม ตื่นตี5 6โมงเช้ากินข้าว 7โมงรถบัสมารับ ล้อหมุนเดินทางสู่สนามกอล์ฟ
แต่สำหรับวันที่แข่งขันแล้ว ทุกคนจะต้องตื่นตี4 (โอ้...แม่เจ้า) กินข้าวเช้าตี5 แล้วรถบัสที่มารับไปที่สนามล้อหมุน 6โมงเช้า เป็นอย่างนี้ทุกวัน ดังนั้นนักกอล์ฟทุกคนต้องมีวินัยสูง รับผิดชอบตนเอง และต้องขอชมเชยว่า นักกอล์ฟเยาวชนจากภาคเหนือของเรา ปฏิบัติตนเองได้ดีมาก รักษาเวลา ตรงต่อเวลา เป็นไปตามเวลาที่นัดหมายไว้เป็นอย่างดี...ยอดเยี่ยม

บรรยากาศภายในห้องอาหารของโรงแรม ที่ชาวเราฝากท้องทุกวันที่นี่ในมื้อเช้า อาหารมีหลากหลายให้เลือก ทั้งแบบสากลนิยม และอาหารท้องถิ่นของชาวมาเลเซีย

สนาม Kelab Rahman Putra อยู่นอกกรุงกัวลาลัมเปอร์ ต้องนั่งรถบัสอีกประมาณ 45 นาที และมีอยู่ด้วยกัน 2 Course ,Lake Course กับ Hill Course ลักษณะโดยทั่วไปของสนามเป็นเนินเขาสูงต่ำ ทั้งสองรอบ การเล่นที่สนามแห่งนี้จะต้องคำนวณระยะให้แม่นยำ ว่าจะต้องลดหรือเพิ่มเบอร์เหล็กเข้าไปเท่าไร ในแต่ละที่ เป็นสนามที่ท้าทายมากทีเดียว ภาพรวมๆแล้ว โปรแจ๊คว่าเป็นสนามยากสนามหนึ่งเหมือนกัน
เป็นครั้งที่สอง ที่โปรแจ๊คได้มีโอกาสมาที่สนามแห่งนี้ ครั้งแรกที่มาในปี 2007 สภาพต่างๆ ก็ยังไม่เปลี่ยนไปมาก แต่ดูจะสมบูรณ์ขึ้น ทั้งแฟร์เวย์และกรีน

ภายในสนามมีธรรมชาติที่สวยงาม มาครั้งนี้สังเกตุว่ามีเจ้าตัวกระรอกตัวเล็กๆวิ่งกันยั้วเยี้ยมากขึ้น ก็ดูน่ารักดี นกแปลกๆก็มีมาให้เห็น และที่ทำให้เด็กๆรู้สึกตื่นเต้น ก็มีเจ้าตัวตะกวนขนาดใหญ่พอสมควร มาเดินโชว์ตัวให้เห็น เดินตัดแฟร์เวย์ แล้วลงน้ำหายไป เหมือนสวนสัตว์เปิดเล็กๆเหมือนกัน

มุมมองสวยๆ ภายในสนามกอล์ฟ ที่เอามาฝาก แนะนำว่า...เวลาเข้าไปในสนามกอล์ฟ ทุกแห่งทุกสนามครับ... ท่านนักกอล์ฟลองมองสิ่งรอบๆตัวบ้าง มีมุมมองที่น่าสนใจ...สวยงามให้ชื่นชมมากมาย อย่ามุ่งแต่ในเกมส์กอล์ฟจนมากเกินไป ท่านจะพลาดสิ่งสวยงามเหล่านี้ไป.

NORTHERN THAI JUNIOR GOLF CLUB.

ภาพเปรียบเทียบ...ป้ายประจำหลุมระหว่างปี 2007 กับปี 2010

และที่อยากแนะนำถ้าได้มีโอกาสมาเล่นกอล์ฟที่สนามแห่งนี้ คืออาหารในซุ้มน้ำ เป็นอาหารท้องถิ่นของชาวมาเลเซีย Nasi Lemak เป็นข้าวมัน ใส่ปลาเล็กปลาน้อยทอดกรอบ,ไข่ต้ม และราดด้วยน้ำพริกพื้นเมือง Sambal และก็ Bee Hoon หรือ Mee Hoon เป็นเส้นหมี่ขาวผัด ซึ่งทั้ง Nasi Lemak และ Bee Hoon จะห่อด้วยใบตองและหุ้มด้วยกระดาษอีกชั้นหนึ่ง รสชาติอร่อย และยิ่งจะครบสูตรอีก ต้องสั่งกาแฟร้อนโบราณของมาเลเซีย ซึ่งออกเสียงว่า "โคปี้" โปรแจ๊คว่าน่าจะเพี้ยนมาจาก Coffee นั่นแหล่ะครับ มาจิบไปด้วย โปรแจ๊คกับป้าตู๋ฝากท้องไว้กับซุ้มน้ำที่สนามทุกวัน รับประกันความอร่อยครับ

บรรดาป้ายต่างๆที่ติดอยู่ทั่วไปในสนามกอล์ฟ เพื่อความปลอดภัยในการเล่น และการรักษาเวลาในการเล่น สนามกอล์ฟในเมืองไทยก็น่าจะทำตามบ้างนะครับ สังเกตุให้ดี จะเห็นว่าป้ายบางป้ายก็มีร่องรอยของลูกกอล์ฟปรากฎให้เห็น หลายรอยทีเดียว แสดงว่า...อันตรายจริงๆครับ.

อีกสิ่งหนึ่งที่แตกต่างจากกอล์ฟในบ้านเราก็คือ นักกอล์ฟในมาเลเซีย ส่วนใหญ่แล้วนิยมลากรถกอล์ฟเล่นเอง ไม่ใช้แคดดี้ ทุกรุ่นทุกวัย ขนาดสนามแห่งนี้เป็นสนามลักษณะเป็นเนินเขา สูงๆต่ำๆ ลุงๆป้าๆ แกลากรถเองหมด แสดงว่าแข็งแรงมาก ตั้งแต่ลงจากรถส่วนตัวที่ขับเข้ามายังสนาม เอาถุงกอล์ฟใส่รถลาก เดินไปซื้อ GREEN FEE หยิบเหล็กเอง , เช็ดเหล็กเอง ,กลบรอบ DIVOT เอง ช่วยกันชักธง ปักธง เอง เป็นภาพที่ช่างแตกต่างกับนักกอล์ฟในเมืองไทยเหลือเกิน คงเป็นคำพูดที่ถูกต้องแล้วหล่ะว่า "เล่นกอล์ฟเมืองไทย สบายที่สุดในโลก"

ในการแข่งขันครั้งนี้ คณะกรรมการผู้จัดการแข่งขัน ให้นักกอล์ฟทั้งหมดใช้รถกอล์ฟ Buggy (ที่มาเลเซียเรียกรถกอล์ฟที่ใช้ขับว่า "Buggy") Buggy 1 คันต่อนักกอล์ฟ 2 คน คลาส A-B ซึ่งเป็นเด็กโตให้ขับเอง ส่วนคลาส C-E ให้แคดดี้ขับให้ ในคลาส C-Eจึงต้องเสียค่าใช้จ่ายมากขึ้น เป็นค่า แคดดี้ 20 ริงกิต , ค่ารถ Buggy 25 ริงกิต ,ค่าทิปแคดดี้ 15 ริงกิต ต่อคนต่อวัน ซึ่งเป็นราคาที่หารเฉลี่ยจากนักกอล์ฟสองคนมาแล้ว สรุปแม็ทช์นี้เด็กเล็กมีค่าใช้จ่ายสูงกว่า
สาเหตุที่ผู้จัดการแข่งขันให้นักกอล์ฟต้องใช้รถ Buggy ก็เพราะต้องการตัดปัญหาที่จะเกิดขึ้นหากต้องให้ผู้ปกครองมาเป็นแคดดี้ให้กับนักกอล์ฟหรือลูกหลานของตนเอง พ่อแม่จะเข้ามายุ่งกับนักกอล์ฟมากเกินไป และไปทะเลาะกับพ่อแม่นักกอล์ฟคนอื่น ซึ่งที่มาเลเซียจะพบปัญหานี้มากและรุนแรงเสียด้วย ก็เลยต้องตัดปัญหานี้ ไม่ให้ผู้ปกครองต้องมาชกต่อยกัน ด้วยประการเช่นนี้ครับ
และก็เกิดเหตุจนได้ แต่ไม่ใช่การชกต่อยกันของผู้ปกครอง แต่เป็นนักกอล์ฟรุ่นคลาส-A ของมาเลเซีย ที่คึกคะนอง ขับรถ Buggy คว่ำ โดยมี"เจ้ากอล์ฟ" นักกอล์ฟจากภาคเหนือของเรานั่งอยู่ด้วย โชคดีที่กอล์ฟยังมีสติ กระโดดออกมาได้อย่างหวุดหวิด แต่ก็บาดเจ็บที่ข้อเท้าเล็กน้อย ถือว่าโชคดีไปที่ไม่เป็นอะไรมาก

แม็ทช์นี้ป้าตู๋ก็ยังคงควบคุมเด็กๆนักกอล์ฟจากภาคเหนือมาแข่งขัน คอยให้กำลังใจเด็กๆทุกคน สมกับเป็นเสาหลักของชมรมฯ และทำงานอย่างเข้มแข็งเช่นเดิม.

พร้อมหน้าพร้อมตากันอีกครั้ง กับ 10 นักกอล์ฟจากภาคเหนือของประเทศไทย ภายในงานเลี้ยงและพิธีมอบรางวัลสำหรับการแข่งขัน


หลังเสร็จสิ้นการแข่งขัน ทั้ง 3 วัน ปรากฎว่านักกอล์ฟจากภาคเหนือของเรา ได้มา 2 รางวัล จากนักกอล์ฟสาวน้อยเมืองแพร่ "น้ำ" น.ส.วรันธร กวาวสิบสาม กับ "น้องเฟรน" ด.ญ.ณัฐนิชา ชมเชย ก็ถือว่าประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง ไม่กลับบ้าน(เมืองเหนือ)มือเปล่า

มีเวลาเพียงน้อยนิด สำหรับการท่องเที่ยว หลังจากเสร็จสิ้นจากการแข่งขัน พวกเราเดินทางด้วยรถไฟฟ้า จากโรงแรมที่พัก ไปยังตึกแฝด PETRONAS ตึกแฝดที่สูงที่สุดในโลก
ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์มีระบบขนส่ง ด้วยรถไฟฟ้าเหมือนกับที่กรุงเทพบ้านเรา ซึ่งสะดวกสบายมากเช่นกัน

กับตึก Petronas ตึกแฝดที่สูงที่สุดในโลก สวยงามด้วยแสงไฟ เมื่ออยู่ในกรุงกัวลาลัมเปอร์ แทบจะมองเห็นตึก Petronas ได้จากทุกมุมเมือง

บรรยากาศภายในรถไฟฟ้าของประเทศมาเลเซีย.


กับบทสรุปของการเดินทางในครั้งนี้ สิ่งที่ได้มอบให้กับเด็กทั้ง 10 คน จากชมรมส่งเสริมนักกอล์ฟเยาวชนไทย(ภาคเหนือ) ก็คือประสบการณ์ที่มีคุณค่า การได้เห็นโลกกว้าง รู้จักการเดินทาง การใช้ชีวิตร่วมกัน การเดินทางที่เป็นหมู่คณะมากๆเช่นนี้ กำหนดการต่างๆ เป็นสิ่งสำคัญมาก ทุกคนต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด หากมีใครเพียงคนใดคนหนึ่งที่ทำผิดพลาด ก็จะทำให้เกิดปัญหาสำหรับคนหมู่มากทันที่ และต้องรู้จักการดูแลตนเอง อีกทั้งสัมภาระของตนเอง ไม่ให้ตกหล่นหรือสูญหายระหว่างการเดินทาง
แล้วพบกันใหม่...ในโอกาสต่อไป
โปรแจ๊ค.